วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

              นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโลกได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีมาแล้ว โดยเกิดจากกลุ่มแก๊สและฝุ่นผงในอวกาศที่มีการควบแน่นจนเป็นก้อน ผิวโลกในช่วงนั้นจะมีลักษณะเป็นของเหลวที่ร้อนจัดต่อมาเย็นตัวลงจนเกิดการแข็งตัว บรรยากาศของโลกในสมัยแรกยังไม่มีแก๊สออกซิเจน ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแก๊สเฉื่อย นอกจากนี้ผิวโลกยังไม่มีน้ำในสภาพของเหลวเลย จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของโลกยุคดึกดำบรรพ์นี้มีความแตกต่างจากโลกยุคปัจจุบันมาก อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 1,000 ล้านปีหลังจากกำเนิดโลก สิ่งมีชีวิตก็ถือกำเนิดขึ้นและเกิดวิวัฒนาการเรื่อยมา จนในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าความหลากหลายในธรรมชาติเกิดมากมายเพียงใด       ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกเกิดขึ้นมาในโลกได้อย่างไร ดังนั้นจึงมีผู้ตั้งสมมติฐานไว้หลายอย่างคือ
           1. SPONTANEOUS GENERATION เป็นสมมติฐานที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต นักปราชญ์สมัยก่อนเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตเกิดมาจากดินและน้ำ อาริสโตเติล ปราชญ์ชาวกรีก กล่าวว่า ปลาส่วนมากเจริญจากไข่และปลาบางชนิดเจริญมาจากโคลนและทราย แมลงบางพวกเกิดมาจากสิ่งไร้ชีวิต บางชนิดเกิดจากน้ำค้างบนใบหญ้าหรือของเน่าเสียต่าง ๆ           แวน เฮลมองต์ ชาวเบลเยี่ยม เชื่อว่าเหงื่อไคลของมนุษย์ จะต้องมีสิ่งที่ให้กำเนิดชีวิตได้ เขาได้ทำการทดลองเอาเสื้อที่ใช้แล้ว และข้าวสาลีหมักไว้ในภาชนะเป็นเวลาหลายวัน ปรากฏว่ามีหนูเกิดขึ้น
           ฟรานเซลล์โก เรดิ ชาวอิตาลี ทดลองเอาเนื้อใส่ภาชนะ เอาผ้ากรองปิดแล้วทิ้งให้เน่าปรากฏว่าไม่มีหนอนเกิดขึ้นในเนื้อเน่าเลย แต่บนผ้ากรองมีแมลงมาวางไข่ จากไข่กลายเป็นหนอน แต่ผลการทดลองไม่มีผู้ยอมรับ
           นีดแฮม ชาวอังกฤษ ทดลองต้มเนื้อในภาชนะที่ปิดสนิท แล้วทิ้งให้เน่าเมื่อนำมาตรวจดู ก็พบจุลินทรีย์
           สปอลลานซานิ ชาวอิตาลี คัดค้านความคิดของนีดแฮม และได้ทดลองต้มเนื้อเป็นเวลานาน และใช้อุณหภูมิสูงจึงพบว่าไม่มีจุลินทรีย์เกิดขึ้น
           หลุยส์ พาสเตอร์ ชาวฝรั่งเศส พิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตไม่ได้และมีจุลินทรีย์ปะปนอยู่ทั่วไปในอากาศ เขาจึงต้องหาวิธีป้องกันจุลินทรีย์โดยสร้างภาชนะพิเศษที่มีรูเปิดเล็ก และงอเป็นรูปตัว U ก่อนจะใช้จะต้องสูบอากาศออกให้หมด แล้วต้มน้ำส่าเหล้าในภาชนะนี้เป็นเวลานาน เมื่อนำน้ำนี้มาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็ไม่พบจุลินทรีย์อยู่เลย จึงทำให้สมมติฐานที่ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต หมดความเชื่อถือไป
           2. SPECIAL CREATION เป็นสมมติฐานที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตควรจะเกิดพร้อมกับโลกในรูปต่าง ๆ กัน ความเชื่อนี้ตรงกับความเชื่อทางศาสนา บางศาสนาที่ว่าโลกถูกสร้างขึ้นในเวลา 6 วัน พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นผู้หญิงเกิดจากโครงกระดูกของชาย
           3. COSMOZOA สมมติฐานนี้กล่าวว่าในจักรวาลมีสิ่งมีชีวิตอยู่แล้ว และสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นถูกส่งมายังโลก นักฟิสิกส์เคยตรวจพบสปอร์บนอุกกาบาต ทำให้สรุปไม่ได้ว่าสปอร์ที่พบนี้มาจากโลกอื่น หรือเป็นสปอร์ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก
           4. CHEMOSYNTHETIC นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อ โอพาริน (A.I. OPARIN) ได้เสนอความคิดพอสรุปได้ว่า สิ่งมีชีวิตจะต้องเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยขบวนการทางชีวเคมีโดยเริ่มจากโลกสมัยนั้นมีสภาวะพอเหมาะมีแก็สต่าง ๆ แล้วเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติขึ้น ทำให้เกิดเป็นโมเลกุลของอินทรีย์สารขึ้นมา ต่อมากลายเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ แล้วรวมตัวกันมีลักษณะคล้ายเซลล์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ขึ้น เป็นเวลานานหลายล้านปี ปัจจุบันเป็นสมมติฐานที่มีคนยอมรับกันมากที่สุด
           วิวัฒนาการ (EVOLUTION) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในทางชีววิทยาจากสิ่งที่ง่าย ๆ ไปสู่สิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องเปลี่ยน ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลานาน
          วิวัฒนาการทางเคม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ครั้งแรกโลกเป็นหมอกเพลิงที่หลุดออกมาจากดวงอาทิตย์ต่อมาเปลือกโลกค่อย ๆ เย็นตัวลง พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีตลอดเวลา ครั้งแรกยังไม่มีสารอินทรีย์ มีแต่สารอนินทรีย์เท่านั้น ซึ่งค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นสารอินทรีย์ ฉะนั้นเมื่อเวลาค่อย ๆ ผ่านไปสารอนินทรีย์จะค่อย ๆ ลดลงพร้อมกับสารอินทรีย์เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีสิ่งมีชีวิต
           วิวัฒนาการทางชีววิทยา เริ่มแรกจากเซลล์ ๆ จะสร้างสารที่ต้องการจากอาหารได้เติบโต และสืบพันธุ์ได้ และจะต้องมีวิธีที่เซลล์จะได้พลังงานมาใช้ วิธีการนั้นก็คือการหายใจ


แนวคิดวิวัฒนาการ
ทฤษฎีของวิวัฒนาการมีดังนี้
           1. ทฤษฎีขอลามาร์ก (LAMARCK’S THEORY) ก่อตั้งโดย จีน แบพติส เดอลามาร์ก (JENA BAPTISTE DE LAMARCK) (1744 – 1829) วิศวกรชาวฝรั่งเศสซึ่งในบั้นปลายชีวิตได้ศึกษาชีววิทยา ได้เป็นผู้วางรากฐานเกี่ยวกับวิวัฒนาการเป็นคนแรกได้เสนอกฎ 2 ข้อ คือ
             1) กฎการใช้และไม่ใช้ (LAW OF USE AND DISUSE)
             2) กฎแห่งการถ่ายทอดลักษณะที่เกิดขึ้นใหม่ (LAW OF INHERITANCE OF ACQUIRED CHARACTERISTICS)
           จากกฎทั้ง 2 ข้อนี้สรุปได้ว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่อรูปร่างของสัตว์ อวัยวะใดที่ใช้บ่อย ก็จะเจริญเติบโตขยายใหญ่ขึ้น อวัยวะใดที่ไม่ใช้ก็จะอ่อนแอลงและเสื่อมหายไปในที่สุด ลักษณะที่ได้มาและเสียไปโดยอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม โดยการใช้และไม่ใช้จะคงอยู่ และถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานโดยทางพันธุกรรม ยกตัวอย่างเช่น ยีราฟสมัยก่อนมีคอสั้น เมื่อยืดคอกินใบไม้สูง ๆ นาน ๆ เข้าคอจะค่อย ๆ ยืดยาวจนเป็นยีราฟปัจจุบัน ขาหลังของปลาวาฬหายไป เนื่องจากใช้หางว่ายน้ำ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า ลามาร์กจะเป็นผู้วางรากฐานของวิวัฒนาการเป็นคนแรก แต่ลามาร์กไปเน้นการถ่ายทอดลักษณะไปให้ลูกหลานว่าเกิดจากการฝึกปรือซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากในสมัยนั้นวิชาพันธุศาสตร์ยังไม่เจริญ
           ไวส์ มันน์ (WEISMANN) ชาวเยอรมันได้ทำการทดลองตัดหางหนู 20 รุ่น เพื่อคัดค้าน ลามาร์ก หนูที่ถูกตัดหางยังคงมีลูกที่มีหาง ไวส์มันน์ อธิบายว่าเนื่องจากสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยเซลล์สืบพันธุ์และเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อสิ่งมีชีวิตตายเซลล์สืบพันธุ์เท่านั้นที่ถ่ายทอดให้ลูกหลานได้ (ก่อนตาย) ส่วนเซลล์เนื้อเยื่อจะหมดสภาพไป การที่หนูถูกตัดหางเป็นเรื่องของเซลล์เนื้อเยื่อ ส่วนเซลล์สืบพันธุ์มีการควบคุมการสร้างหาง หนูที่เกิดใหม่จึงยังคงมีหาง ความคิดของไวส์มันน์ตรงกับความรู้เรื่องพันธุ์กรรมสมัยนี้ เขาเรียกการสืบทอดลักษณะนี้ว่าการสืบต่อกันไปของเซลล์สืบพันธุ์
       
            2. ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของดาร์วิน (DARWIN’S THEORY)
           ดาร์วิน เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1890 ที่ประเทศอังกฤษ เป็นบุตร นายโรเบิร์ต วอริง ดาร์วิน ดาร์วินได้เริ่มศึกษาวิชาธรรมชาติวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และเมื่อจบการศึกษาแล้วได้เดินทางรอบโลกไปกับเรือบีเกิล ของรัฐบาลอังกฤษ โดย ดร.จอห์น เฮนสโลว์ เป็นผู้แนะนำ เขาได้นำประสบการณ์จากการศึกษาชนิดของพืชและสัตว์ต่าง ๆ ที่พบในหมู่เกาะกาลาปากอส หมู่เกาะนี้อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ดาร์วินได้ท่องเที่ยวมาเป็นเวลา 5 ปี
           ค.ศ. 1859 ดาร์วินได้เสนอ ทฤษฎีการเกิดสิ่งมีชีวิตใหม่ เป็นผลอันเนื่องมาจากการคัดเลือกทางธรรมชาติ ทำให้สามารถเข้าใจการกระจายของพืชและสัตว์ ที่มีอยู่ประจำแต่ละท้องถิ่นตามหลักซึ่งภูมิศาสตร์ ดังต่อไปนี้คือ
           1. สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความสามารถสืบพันธุ์สูง ทำให้ประชากรมีการเพิ่มแบบทวีคู
           2. ความเป็นจริงในธรรมชาติ ประชากรมิได้เพิ่มขึ้นเป็นแบบทวีคูณเนื่องจากอาหารมีจำนวนจำกัด
           3. สิ่งมีชีวิตต้องมีการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด พวกที่มีความเหมาะสมก็จะมีชีวิตอยู่รอด พวกที่ไม่มีความเหมาะสมก็จะตายไป
           4. พวกที่อยู่รอดจะมีโอกาสแพร่พันธ์ต่อไป
           5. การเกิดสปีชีส์ใหม่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่ละเล็กละน้อย ตามทัศนะของดาร์วิน กลไกของวิวัฒนาการสภาพแวดล้อม เป็นตัวทำให้เกิดการคัดเลือกทางธรรมชาติขึ้น เพื่อให้ได้ลักษณะที่เหมาะสมและมีโอกาสสืบพันธุ์ต่อไป


           3. ทฤษฎีการผ่าเหล่า (THEORY OF MUTATION)
        ทฤษฎีนี้ ฮิวโก เดอ ฟรีส์ (HUGO DE VRIES) ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวฮอลันดา ตั้งขึ้นใน คศ. 1895 เดอ ฟรีส์ พบพืชดอกชนิดหนึ่ง มีลักษณะแปลกกว่าต้นอื่น ๆ เขาจึงนำเมล็ดของพืชต้นเดิมแบบเก่ามาเพาะ ปรากฏว่าได้ต้นที่มีลักษณะแปลกอยู่ต้นหนึ่ง เมื่อนำเมล็ดของต้นที่มีลักษณะแปลกมาเพาะ จะได้ต้นที่มีลักษณะแปลกทั้งหมดแสดงว่าได้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันในต้นเดิม เขาจึงตั้งทฤษฎีของการผ่าเหล่า โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากการสังเกตและการทดลองดังกล่าวนี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพันธุ์ใหม่ๆอาจเกิดโดยกระทันหันได้
หลักฐานที่มาสนับสนุนวิวัฒนาการ
           วิวัฒนาการเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นช้า ๆ และกินเวลานาน ในการศึกษาความเป็นมาของสิ่งมีชีวิตในอดีต จึงจำเป็นต้องศึกษาจากหลักฐานต่าง ๆ มาสนับสนุนเพื่อให้ได้แนวความคิดที่ถูกต้อง หลักฐานต่างๆ ที่นำมาอ้างอิงเพื่อใช้สนับสนุนแนวความคิด คือ
           1. หลักฐานจากซากสิ่งมีชีวิต เป็นสิ่งที่ใช้อ้างอิงเรื่องราวในอดีต หลักฐานเหล่านี้มีอายุไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นปีขึ้นไป ซากของสิ่งมีชีวิตที่ดีจะต้องได้ครบทุกส่วน แต่ส่วนมากที่พบจะพบเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อพบซากสิ่งมีชีวิตแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะคำนวณอายุของหินหรือดินบริเวณที่พบนั้น ทำให้สามารถทราบอายุของสิ่งมีชีวิตนั้นด้วยจากหลักฐานเหล่านี้ทำให้ทราบว่า
           1.1 ซากของพืชและสัตว์ที่พบจัดอยู่ในไฟลัมเดียวกับพืชและสัตว์ในปัจจุบันแต่มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป
           1.2 ซากของสิ่งมีชีวิตที่พบในหินชั้นหนึ่ง จะแตกต่างกับซากของสิ่งมีชีวิตที่พบในหินอีกชั้นหนึ่ง
           1.3 พวกคอร์เดตพบในหินชั้นใหม่ที่สุด
           1.4 ถ้าเป็นซากสิ่งมีชีวิตที่พบในหินมีอายุไม่มากนัก จะมีลักษณะใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิต ในปัจจุบันมากขึ้น
           2. หลักฐานทางกายวิภาคเปรียบเทียบ จากการศึกษาโครงสร้างของครีบปลา ปีกค้างคาว ขาหน้าของม้า และแขนของคน พบว่าอวัยวะเหล่านี้มีแบบแผนเหมือนกันการที่อวัยวะเหล่านี้มีแบบแผนเหมือนกัน มีลักษณะคล้ายกันแสดงว่ามีต้นกำเนิดร่วมกัน
           3. หลักฐานทางคัพภะวิทยาเปรียบเทียบ ในสัตว์เกือบทุกชนิด ยกเว้นปลาดาว มีแบบแผนการเจริญเติบโตตั้งแต่ การปฏิสนธิจนถึงตัวอ่อน มีการเกิดเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คล้ายคลึงกัน
           4. หลักฐานทางชีวเคมี จากการศึกษาทางชีวเคมี พบว่าส่วนประกอบภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิดคล้ายคลึงกัน
           5. หลักฐานทางพันธุศาสตร์ พันธุ์ใหม่เกิดจากการผ่าเหล่าโดยธรรมชาติหรือโดยมนุษย์ ถ้าได้ลักษณะที่ต้องการมนุษย์ก็จะขยายพันธุ์ต่อไป
วิวัฒนาการของมนุษย์
           นักชีววิทยา ได้จำแนกมนุษย์ไว้ในหมวดหมู่ ดังต่อไปนี้
           1. อาณาจักร (KINGDOM) ANIMALIA
           2. ไฟลัม (PHYLUM) CHORDATA
           3. คลาส (CLASS) MAMMALIA
           4. ออเดอร์ (ORDER) PRIMATE
           5. แฟมิลี่ (FAMILY) HOMINIDAE
           6. จีนัส (GENUS) HOMO
           7. สปีชีส์ (SPECIES) SAPIENS (MODERN MAN)

บรรพบุรุษของมนุษย์
      

             มนุษย์จัดอยู่ในออร์เดอร์ไพรเมต วิวัฒนาการของไพรเมตมาจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรก (PLACENTAL MAMMAL) กินแมลงเป็นอาหารโดยวิวัฒนาการ เป็นบรรพบุรุษระยะแรกคล้าย TREE SHEW ในปัจจุบันมีลักษณะทั่วไปคล้ายกระแต จมูกและหางยาวแต่ปลายนิ้วมือมีเล็บแบน (NAILS) หัวแม่มือพับเข้าหาฝ่ามือได้ TREE SHEW ที่
สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ตัว TUPIA ซึ่งอาศัยอยู่ในป่า ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ จากบรรพบุรุษคล้าย TREE SHEW เกิดวิวัฒนาการหลายสายได้บรรพบุรุษรุ่นถัดมาเรียกร่วมกันว่าโปรซิเมียน (PROSIMIANS) ซึ่งเป็นไพรเมตแท้จริงพวกแรกที่สืบทอดลูกหลานเป็นโปรซิเมียน จนถึงปัจจุบันมี 2 พวกคือ ลีเมอร์ (LEMURS) และทาร์ซิเออร์ (TARSIERS) โปรซิเมียน
โบราณได้สืบทอดเผ่าพันธุ์มีลูกหลานมากขึ้นตามลำดับ ลูกหลาน
กระจายไปอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน และมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต จึงเกิดไพรเมตชนิดต่าง ๆ หลายชนิด ทั้งที่พบหลักฐานที่เป็นซากโบราณและที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน
           สัตว์อันดับไพรเมตมีลักษณะที่สำคัญคือ เป็นสัตว์ที่มี 5 นิ้วมีเล็บแบน (NAIL) ซึ่งต่างจากสัตว์อื่นๆ ทั่วไป (CLAW) นิ้วหัวแม่มืองอพับเข้าหาฝ่ามือได้ ซึ่งเหมาะแก่การจับวัตถุหรือกิ่งไม้ระหว่างโหนตัว จมูกและปากสั้น หนา แบน มีตาอยู่ทางด้านหน้าจึงมองเห็นได้ 3 มิติ และมีสมองเจริญดี
           ไพรเมต แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
           ก. PROSIMII เป็นไพรเมตชั้นต่ำ ได้แก่ ลีเมอร์ (LEMUR) และทาร์ซิเออร์ (TARSIERS)
           ข. ANTHROPOIDEA เป็นไพรเมตชั้นสูง ได้แก่ ลิง (MONKEY) ลิงใหญ่ (APE) มนุษย์วานร (APE-MAN) และมนุษย์ (MAN) พวกนี้แบ่งย่อยเป็น 3 SUPER FAMILY คือ
           1. CEBOIDEA ลิงโลกใหม่พบในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ลักษณะรูจมูกกว้าง ใช้หางยึดจับกิ่งไม้แทนมือได้ ได้แก่ ลิง HOWLER MARMOSE , CAPUCHIN และลิง SPIDER
           2. CERPITHICOIDEA ลิงโลกเก่า พบทั่วไปในทวีปเอเชีย ยุโรปและอาฟริกา ลักษณะรูจมูกเชิด หางสั้นมีไว้สำหรับทรงตัว เช่น ลิงแสม ลิงกัง ลิงบาบูน ค่าง
           3. HOMINOIDEA ได้แก่ ลิงใหญ่ มนุษย์วานร และมนุษย์พวกนี้ไม่มีหาง แบ่งออกเป็น 2 FAMILY
                     ก. PONGIDEA ได้แก่ ชะนี กอริลล่า ชิมแปนซี อุรังอุตัง ลักษณะเด่น คือ ไม่มีหาง เดินสี่ขา บางครั้งอาจเดินสองขาได้ แถวฟันและเพดานมีลักษณะโค้งเป็นรูปตัวยู ฟันเขี้ยวใหญ่ยื่นล้ำออกมากกว่าแนวฟันซี่อื่น ๆ
                     ข. HOMINIDAE มีบรรพบุรุษเป็นมนุษย์วานร (APE-MAN) คือ พวก PROCONSUL พวกนี้เดินทรงตัว 2 ขา แถวฟันและเพดานปากโค้งเป็นวงกลม ฟันเขี้ยวมีขนาดเล็กอยู่ในระดับเดียวกับซี่อื่น ๆ HOMINIDAE แบ่งออกเป็น 3 จีนัส คือ
                     1. RAMAPITHECUS เชื่อกันว่าอยู่ในโลกประมาณ 10-14 ล้านปีล่วงมาแล้ว พบครั้งแรกในอินเดีย ต่อมาพบในอาฟริกาและยุโรป รามาพิธิคุสมีขากรรไกรและฟันล่างขนาดใกล้เคียงกับมนุษย์
                     2. AUSTRALOPITHECUS มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 5-3 ล้านปีล่วงมาแล้ว พบซากดึกดำบรรพ์ของพวกนี้ครั้งแรกในสหภาพอาฟริกาใต้ มีสมองใหญ่ประมาณ 600 ลูกบาศก์เซนติเมตร ไม่มีหน้าผาก ลักษณะของฟันแสดงว่ากินผักเป็นอาหารรู้จักประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้แบบง่าย ๆ จากก้อนหินและกิ่งไม้
                     3. HOMO ลักษณะที่สำคัญคือ มีการพูดจา (SPEECH) สื่อภาษาได้รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ได้หลายอย่าง พวกนี้วิวัฒนาการมาจากมนุษย์วานร มาเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ลำดับวิวัฒนาการของพวกนี้ แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
                     HOMO HABILIS มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 4-2 ล้านปีล่วงมาแล้ว โดยสืบเชื้อสายมาจาก AUSTRALOPITHECUS มีขนาดสมอง 800 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีขนปกคลุมลำตัวคล้ายลิงมาก สูงประมาณ 125 เซนติเมตร ฟันซี่ขนาดเล็กคล้ายมนุษย์ลักษณะเท้าคล้ายเท้ามนุษย์มากกว่าสิงใหญ่ รู้จักนำหินมากระเทาะทำเครื่องมือ
                     HOMO ELECTUS มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2 – 1 ล้านปีล่วงมาแล้วตัวอย่างของมนุษย์พวกนี้ได้แก่ มนุษย์ชวา มนุษย์ปักกิ่ง ขนาดสมองเฉลี่ย 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร กระดูกสันคิ้วหนาใหญ่ หน้าผากแบนลาด ขากรรไกรใหญ่ ไม่มีคาง (คล้ายลิง) จมูกแบนกว้าง มีขาตรง ขาและแขนมีสัดส่วนใกล้เคียงกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในถ้ำ รู้จักใช้ไฟ ล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร ประดิษฐ์ขวานหินแต่ไม่มีด้าม
                     HOMO SAPIENS NEANDERTHALENSIS หรือที่เรียกว่า มนุษย์นีแอนเดอธัล (NEANDERTHAL MAN) เป็นสายพันธุ์ของมนุษย์ปัจจุบัน พบซากโบราณของ
มนุษย์พวกนี้อายุประมาณ 1 แสนปี กะโหลกช่วงเหนือหูกว้างมาก ขนาดสมองประมาณ 1,450 ลบ.ซม. ไม่มีคาง เป็นมนุษย์ที่แข็งแรงร่างใหญ่ รู้จักประดิษฐ์อาวุธ ขวาน หอกจากหินมีด้ามทำด้วยไม้ขุดพบครั้งแรกในถ้ำตำบล NEANDER เมือง DUSSELDORF ประเทศเยอรมัน
                     HOMO SAPIENS CROMAGNON หรือมนุษย์โครมันยอง เป็นมนุษย์พวกแรกที่มีลักษณะอย่างมนุษย์ปัจจุบัน พบซากโบราณของพวกนี้หลายแห่งในทวีปยุโรป และพบมากที่สุดในถ้ำประเทศฝรั่งเศส ซากมีอายุประมาณ 2 หมื่นปี ขนาดสมองประมาณ 1,300 – 1,500 ลบ.ซม. ขนปกคลุมร่างกายมีน้อยลงมาก รู้จักประดิษฐ์อาวุธต่าง ๆ เช่นลูกดอก ธนู หน้าไม้ และเครื่องทุ่นแรงในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
ลักษณะสำคัญของมนุษย์ในปัจจุบัน คือ
           1. ยืนตัวตรง และเคลื่อนที่ด้วย 2 ขา
           2. ช่วงขายาวกว่าแขน
           3. หัวแม่มือ หัวแม่เท้าสั้น โดยหัวแม่มือพับงอเข้าหาอุ้งมือและนิ้วเท้าทั้ง 4 งอได้มนุษย์จึงสามารถใช้มือจับ ดึง ฉีก ขว้าง ทุบ แกะและทะลวงเพื่อสร้างเครื่องมือตามที่ต้องการได้
           4. กระดูกสันหลังตั้งตรง แต่มีลักษณะโค้งเป็นตัว S
           5. ร่างกายไม่ค่อยมีขน
           6. กระดูกคอ ต่อจากใต้ฐานหัวกระโหลก
           7. สมอง มีขนาดโตเมื่อเปรียบเทียบกับร่างกาย
           8. หน้า สั้นและแบน หน้าผากค่อนข้างตั้งตรง
           9. ขากรรไกรสั้น และแนวฟันตามเพดานปาก โค้งเกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม
           10. เขี้ยว ไม่โตกว่าฟันหน้ากราม
           11. ฟันหน้ากรามซี่ที่หนึ่ง และซี่ที่สอง ไม่ต่างกันมาก


สิ่งมีชีวิตคืออะไร
           อาจกล่าวได้ว่าสิ่งมีชีวิต เป็นสภาวะของพืชและสัตว์ที่มีส่วนประกอบมาจากอินทรีย์สาร และจากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว ในทางตรงกันข้ามสิ่งไม่มีชีวิตคือพวกอนินทรียสารต่างๆหรือ เป็นซากวัตถุที่ได้มาจากสิ่งที่เคยมีชีวิตมาก่อน เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตมักจะพูดถึงสมบัติทั้งในด้านโครงสร้างและการทำงาน
โครงสร้างของสิ่งมีชีวิต
           สิ่งมีชีวิตจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันอย่างไม่มีขอบเขต แต่ก็มีสมบัติร่วมกัน ทั้งทางโครงสร้างและหน้าที่ ถ้าไม่คำนึงถึงขนาดและรูปร่างลักษณะแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกชนิด (ยกเว้นไวรัส) ต่างก็ประกอบด้วยหน่วยชีวิตที่เรียกว่าเซลล์ (CELL) ซึ่งอาจมีจำนวนเป็นหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งหน่วยก็ได้ นอกจากนี้ถึงแม้เซลล์จะมีรูปร่างที่แตกต่างกันแต่ก็มีส่วนประกอบทางเคมีและโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกัน
           สิ่งมีชีวิตแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆได้แก่
           1. สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (UNICELLULAR ORGANISM)
           2. สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (MULTICELLULAR ORGANISM)
           สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวมี 2 ระดับ ได้แก่ ระดับเซลล์ (CELL LEVEL) และระดับกลุ่ม (COLONY LEVEL)
           สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ มี 3 ระดับ ได้แก่ระดับเนื้อเยื่อ (TISSUE LEVEL) ระดับอวัยวะ (ORGAN LEVEL) และระดับระบบอวัยวะ (ORGAN SYSTEM LEVEL)
           กลุ่มของเซลล์เหมือนกันทำหน้าที่อย่างเดียวกันเรียก เนื้อเยื่อ (TISSUE) เนื้อเยื่อหลายอย่างทำหน้าที่อย่างเดียวกันเรียก อวัยวะ (ORGAN)
หน้าที่ของสิ่งมีชีวิต       
              สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องมีขบวนการทางชีวเคมี ต้องการสารอาหารและพลังงานและการกำจัดของเสีย การสร้างและซ่อมแซมหน้าที่ ที่จะรักษาตัวเองให้คงอยู่ได้ อาจจัดเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท
           1. เมแทบอลิซึม (METABOLISM) เป็นกระบวนการที่ถูกควบคุมโดยสารพันธุกรรมของเซลล์ ที่เรียกว่า ดี เอ็น เอ หรือ จีน ซึ่งมีหน้าที่เป็นรหัสควบคุมลักษณะต่างๆของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยังควบคุมหน้าที่ต่างๆ เช่น การเจริญเติบโต เมแทบอลิซึม มีหน้าที่สำคัญย่อยๆ ได้ลักษณะอีก 3 อย่าง ได้แก่ โภชนาการ การหายใจ และการสังเคราะห์
           1.1 โภชนาการ เป็นขบวนการจัดหาวัตถุดิบของสิ่งมีชีวิตที่ทำอย่างต่อเนื่อง วัตถุดิบของโภชนาการได้แก่ สารอาหาร (NUTRIENT) ซึ่งได้จากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและชีวภาพ
           1.2 การหายใจ เป็นกระบวนการที่สารอาหารซึ่งมีพลังงานเคมี เปลี่ยนเป็นพลังงานในรูปที่ใช้ประโยชน์ได้ในกระบวนการหายใจ การหายใจเป็นกระบวนการสร้างพลังงานที่ทำให้หน้าที่ต่างๆดำเนินไปได้
           1.3 การสังเคราะห์ เป็นขบวนการใช้สารสร้างโครงสร้างใหม่ และต้องใช้พลังงานจากการหายใจ การหายใจทำให้การสังเคราะห์ดำเนินไปได้
           2. การสืบพันธุ์ (REPRODUCTION) การสืบพันธุ์เป็นการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตตัวใหม่หรือต้นใหม่ จากสิ่งมีชีวิตตัวเดิมหรือต้นเดิมที่มีอยู่ก่อน การสืบพันธุ์เป็นการทดแทนความตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ดังนั้น ชั่วอายุของสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ ต่ออีกชั่วอายุหนึ่งๆได้โดยการสืบพันธุ์นั่นเอง
           3. การปรับตัว สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัว เพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่จะดำรงอยู่ สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัวเพื่อเหตุผล 3 ประการด้วยกัน คือ
           3.1 มีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด หลบหลีกศัตรู
           3.2 มีการปรับตัวเพื่อหาอาหาร
           3.3 มีการปรับตัวเพื่อการสืบพันธุ์

ระบบชีวิต คือ อะไร         
             กล่าวได้ว่าการมีชีวิตพื้นฐาน คือโครงสร้างใดๆซึ่งมีเมแทบอลิซึม และการรักษาตัวเองได้จะมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าขบวนการรักษาตัวเองให้คงอยู่เป็นหน้าที่ของเมแทลิซึมโภชนาการ การหายใจ การสังเคราะห์ การสืบพันธุ์ และการปรับตัวนั่นเอง
           ความหมายของระบบชีวิต คือรูปแบบถาวรของสสาร เมื่อสิ่งมีชีวิตตายไปจะมีการย่อยสลาย (DECOMPOSE) (การย่อยสลาย คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของสารอินทรีย์จากโมเลกุลใหญ่ให้เป็นโมเลกุลเล็กๆ หลายๆ โมเลกุล โดยเห็ดรา และแบคทีเรียบางชนิด)  สิ่งไม่มีชีวิตมีเมแทลิซึมและการรักษาตัวเองให้คงอยู่ไม่ถูกทำลายและได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตขึ้นกับหน้าที่ไม่ใช่โครงสร้าง สิ่งที่มีโครงสร้งอาจเป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตก็ได้